วิธีแยกขยะ ไม่ทิ้งรวม ลดของเหลือใช้ รีไซเคิลต่อได้

วิธีแยกขยะก่อนทิ้ง เพื่อการนำไปใช้ประโยชน์และกำจัดอย่างถูกต้อง พร้อมช่วยลดค่าใช้จ่ายได้อีกทาง

วิธีแยกขยะ

หลายคนมักจะคิดว่าจะแยกขยะไปทำไม ในเมื่อสุดท้ายก็เอาไปเทรวมกันอยู่ดี ? ซึ่งจริง ๆ แล้วขยะที่ถูกทิ้งได้มีการนำไปคัดแยกสำหรับ “ใช้ประโยชน์ต่อ” และ “นำไปกำจัดทิ้ง” ที่ล่าสุด สภากรุงเทพมหานคร มีมติผ่านร่างข้อบัญญัติใหม่ ปรับค่าธรรมเนียมเก็บขยะสำหรับบ้านที่มีการคัดแยกขยะ 20 บาทต่อเดือน และไม่คัดแยกขยะ 60 บาทต่อเดือน ด้วย ไปดูกันว่าจะคัดแยกขยะก่อนทิ้งยังไงบ้าง 

ขยะมีกี่ประเภท

  • ขยะอินทรีย์ : ขยะที่เน่าเสียง่าย ย่อยสลายได้เร็ว เช่น เศษอาหาร เศษผัก-ผลไม้ ใบไม้ กิ่งไม้ 
  • ขยะทั่วไป : ขยะที่ไม่สามารถย่อยสลายเองได้และไม่สามารถนำไปรีไซเคิลต่อได้ เช่น ถุงแกง ซองขนม เศษผ้า เศษยาง กระดาษปนเปื้อน กล่องโฟม 
  • ขยะรีไซเคิล :  ขยะที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ เช่น ขายหรือรีไซเคิลเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ได้แก่ กระดาษ แก้ว กระป๋องโลหะ พลาสติกรีไซเคิล
  • ขยะอันตราย :  ส่วนใหญ่จะเป็นขยะที่อาจส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อคนหรือสิ่งแวดล้อม เช่น แบตเตอรี่ กระป๋องบรรจุสารเคมี ถ่านไฟฉาย หลอดไฟ ยาหรือเครื่องสำอางหมดอายุ

วิธีแยกขยะไปทิ้ง

วิธีแยกขยะ

ขยะแยกไปใช้ประโยชน์

ขยะรีไซเคิล : รวมขยะใส่ถุงแล้วทำสัญลักษณ์ด้วยการมัดปากถุงด้วยเชือก ริบบิ้น เทปสีเหลือง หรือใส่ถุงขยะสีเหลือง แล้วนำไปทิ้งตามวันและเวลาที่สำนักงานเขตกำหนด

ขยะอินทรีย์ : ขยะส่วนนี้สามารถนำไปทำปุ๋ยหมักหรือเครื่องย่อยเศษอาหาร เปลี่ยนขยะเป็นปุ๋ยออร์แกนิกไว้สำหรับใส่ต้นไม้ในสวนได้ แต่ถ้าไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์ในบ้านให้นำขยะใส่ถุงแล้วมัดปากให้เรียบร้อยหรือใส่ในภาชนะที่มีฝาปิดมิดชิด จากนั้นนำไปทิ้งในจุดทิ้งขยะ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะนำไปจัดการต่อไป

ขยะแยกสำหรับทิ้ง

ขยะทั่วไป : ใส่ถุงมัดปากให้แน่นแล้วนำไปวางที่จุดพักขยะ รอเจ้าหน้าที่มาจัดเก็บตามเวลา จากนั้นก็จะส่งต่อไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปบำบัดหรือกำจัดด้วยวิธีที่ถูกต้องต่อไป

ขยะอันตราย : ใส่ถุงแล้วทำสัญลักษณ์ด้วยการมัดปากถุงด้วยเชือก ริบบิ้น เทปสีส้ม หรือถุงสีส้ม แล้วนำไปทิ้งตามวันและเวลาที่สำนักงานเขตกำหนด เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปกำจัดอย่างถูกต้องต่อไป

ทั้งนี้ ถุงขยะ ควรทำจากพลาสติกหรือวัสดุอื่นที่มีความเหนียว ทนทาน ไม่ฉีกขาดง่าย ไม่รั่วซึม และมีขนาดที่เหมาะสมกับปริมาณขยะ หากเป็นภาชนะบรรจุขยะควรใช้วัสดุที่ทำความสะอาดง่าย มีความแข็งแรง ทนทาน ใช้ขนาดที่เหมาะสม เคลื่อนย้ายสะดวก มีฝาปิดมิดชิด เพื่อป้องกันสัตว์และแมลงพาหะนำโรค พร้อมทั้งมีการทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ

บริการเก็บขยะ

หากมีขยะปริมาณมาก ๆ เป็นครั้งคราว สามารถแจ้งขอรับบริการที่สำนักงานเขตได้ โดยชำระค่าธรรมเนียมเป็นรายครั้ง ประกอบด้วย

  • ขยะชิ้นใหญ่ เช่น ที่นอน โต๊ะ ตู้ เตียง เศษไม้ เครื่องใช้ไฟฟ้า โซฟา เก้าอี้ โดยการโทรศัพท์แจ้งเพื่อขอรับบริการที่สำงานเขตในแต่ละพื้นที่ หรือติดตามประกาศวันนัดเก็บขยะชิ้นใหญ่จากสำนักงานเขต (ในส่วนนี้จะไม่มีค่าธรรมเนียม)

  • กิ่งไม้ปริมาณมาก โดยการโทรศัพท์แจ้งขอรับบริการเก็บขนกิ่งไม้จากอาคารบ้านเรือน

  • เศษวัสดุก่อสร้างจากอาคารบ้านเรือน เช่น หิน ปูน คอนเกรีต ฝ้าเพดาน โทรศัพท์แจ้งขอรับบริการเก็บขนวัสดุก่อสร้าง

วิธีเข้าร่วมโครงการแยกขยะ กทม.

วิธีแยกขยะ

ทางกรุงเทพมหานครจะเปิดบริการให้ประชาชนที่สนใจเข้าร่วมโครงการลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน BKK หรือเดินทางไปลงทะเบียนด้วยตัวเองที่ฝ่ายรักษาความสะอาดที่สำนักงานเขตทั้ง 50 แห่ง หลังจากลงทะเบียนแล้วเจ้าหน้าที่จะดำเนินการตรวจสอบเพื่อยืนยันว่ามีการคัดแยกขยะจริงหรือไม่ และเก็บค่าธรรมเนียม 20 บาทต่อเดือน ตามเดิม

โทษปรับ

นอกจากนี้หากทิ้งขยะไม่เป็นที่ยังมีโทษปรับอีกด้วย ตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2560 กำหนดไว้ว่า ทิ้งขยะลงบนที่ว่าง ที่สาธารณะ มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท ทิ้งขยะลงแม่น้ำ ลำคลอง มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท 

พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ. 2535 ทิ้งขยะ สิ่งปฏิกูล บนผิวจราจรหรือไหล่ทาง มีโทษปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 3 ปี

จริง ๆ แล้วการแยกขยะก่อนทิ้งไม่ได้แค่ทำให้จ่ายค่าธรรมเนียมการเก็บขยะน้อยลงเท่านั้น แต่ยังช่วยให้ขยะทุกชิ้นที่เกิดขึ้นถูกนำกลับไปใช้ประโยชน์และกำจัดอย่างถูกต้อง นอกจากจะช่วยลดมลพิษและลดขยะรอกำจัดในระบบให้น้อยลงแล้ว ยังทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้นในระยะยาวอีกด้วย

เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับ การแยกขยะ :

ขอบคุณข้อมูลจาก : gcc.go.th และ bangkok.go.th
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วิธีแยกขยะ ไม่ทิ้งรวม ลดของเหลือใช้ รีไซเคิลต่อได้ อัปเดตล่าสุด 8 พฤศจิกายน 2567 เวลา 17:16:05 6,671 อ่าน
TOP
x close